วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ธุรกิจครอบครัว (Family Business)


          หลายคนที่คิดกำลังจะสานต่อธุรกิจครอบครัว หรือใครก็ตามที่กำลังทำธุรกิจกับครอบครัวอยู่  เรามีเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจครอบครัวมาฝาก ! !


ธุรกิจครอบครัวคืออะไร
           ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบโดยทั่วไปคือ ธุรกิจที่หุ้นของกิจการมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเจ้าของโดยสมาชิกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง หรือธุรกิจที่มีการสืบทอดมาสู่ลูกหลานอีกรุ่นหนึ่ง

ประโยชน์ของธุรกิจครอบครัว
มีมุมมองเดียวกัน ทุกคนมีส่วนร่วมในอุดมการณ์และความเชื่อในสิ่งที่ควรทำเหมือนๆ กัน ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกพิเศษที่มุ่งมั่นและภาคภูมิใจ ที่เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจ
สามารถทุ่มเทกับการทำงานได้อย่างเต็มที่ ในการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องใช้เวลาและความพยายามสูง ซึ่งในกรณีของธุรกิจครอบครัว จะมีความเข้าอก เข้าใจเป็นพิเศษสำหรับวิธีการทำงานที่ทำให้แต่ละคนสามารถมีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลามากขึ้น
ความซื่อสัตย์ ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เข้มข้น หมายถึง การที่ทุกคนในครอบครัวจะยึดติดกันไว้แม้ในยามยาก รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้
ความมั่นคง ความเป็นธุรกิจครอบครัวทำให้ทุกคนตระหนักดีว่าจะต้องเก็บธุรกิจนี้ไว้ให้รุ่นลูกหลานสืบต่อไป ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความคิด การวางแผนให้ธุรกิจเติบโต และประสบความสำเร็จในระยะยาว
ต้นทุนลดลง สมาชิกของครอบครัวบางครั้งอาจยอมสละผลประโยชน์ทางการเงินบางส่วนเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ ตัวอย่างเช่น การยอมรับค่าจ้างที่ต่ำกว่าการไปทำงานที่อื่น หรือยังไม่รับเงินเดือนในช่วงที่เกิดปัญหาทางการเงิน เป็นต้น

อะไรที่ควรคำนึงถึงในการทำธุรกิจครอบครัว
ก่อนที่จะตัดสินใจทำธุรกิจครอบครัว มีประเด็นที่อาจต้องเผชิญ ต้องคำนึงถึง และตัดสินใจ ดังนี้
          • หุ้นทางธุรกิจจะถูกนำมาจัดสรรระหว่างสมาชิกในครอบครัวและถ้ากรณีมีบุคคลอื่นมาถือหุ้นด้วย ต้องแน่ใจว่าการตัดสินใจจะอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลทางธุรกิจมากกว่าเหตุผลส่วนตัว
          • บทบาทและความรับผิดชอบจะแตกต่างกันระหว่างผู้ถือหุ้นภายในครอบครัวซึ่งมีบทบาทมากในธุรกิจกับบางคนที่ไม่ใส่ใจ รวมถึงผู้ถือหุ้นจากภายนอก การให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในครอบครัวตามบทบาทและความรับผิดชอบที่มีอยู่อาจก่อให้เกิดปัญหาได้
          • บางครั้งอาจต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่เกิดจากอารมณ์ ความรู้สึก ที่มาพร้อมกับทางด้านธุรกิจ ผู้ทำหน้าที่บริหารต้องแสดงความรู้สึกทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ในขณะเดียวกับที่ต้องทำตัวเป็นเจ้านายเขาด้วย นอกจากนั้น ต้องพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับคนที่พิจารณาแล้วว่ามีส่วนต่อความสำเร็จในการทำธุรกิจ
          • ต้องทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าการเงินของครอบครัวจะไม่ขึ้นอยู่กับธุรกิจทั้งหมด

ปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้ามและนำมาสู่การแก้ไข
             การทำธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การผสมผสานระหว่างอารมณ์ ความรู้สึกกับการดำเนินธุรกิจอาจทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสามารถมองในทางบวกว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง หากสามารถหลีกเลี่ยงหรือจัดการกับความขัดแย้งนั้นได้ โดยลองใช้วิธีที่จะแนะนำดังต่อไปนี้
ลองคิดดูว่าคนในธุรกิจมีการติดต่อสื่อสารกันอย่างไร มีการแยกแยะระหว่างเรื่องความรู้สึกส่วนตัวกับเรื่องงานหรือไม่ มีกระบวนการทำงานในองค์กรที่เอื้ออำนวยต่อบุคลากรอื่นนอกเหนือจากสมาชิกของครอบครัวได้แสดงความคิดเห็น รวมทั้งสังเกตดูว่ามีใครในองค์กรที่มีแนวโน้มที่จะครอบงำความคิดของผู้อื่น
วิธีการที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งคือ การป้องกันความเข้าใจผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งแรก หรือคำโบราณที่เรียกว่า ตัดไฟแต่ต้นลมการมีธรรมนูญที่ใช้เป็นข้อปฏิบัติของครอบครัวจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารธุรกิจ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยใช้เสียงข้างมากในการตัดสินใจเป็นหลัก
ถ้าเกิดเหตุรุนแรงจนไม่สามารถแก้ไขได้ อาจต้องพึ่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
ต้องใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการลดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งอาจทำได้โดย การไม่พูดถึงเรื่องส่วนตัวในที่ประชุม สร้างกลไกในการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของทุกฝ่ายเพื่อลดความรู้สึกการไม่มีส่วนร่วมของบุคลากรที่ไม่ใช่ในครอบครัว จัดให้มีการประชุมสัมมนานอกรอบอย่างไม่เป็นทางการบ้างเพื่อคุยในเรื่องของทิศทางและกลยุทธ์องค์กร หรือแต่งตั้งที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์สำหรับทำหน้าที่เสมือนตัวกลางเพื่อลดความกดดันจากการประชุม หารือเรื่องธุรกิจลง

 ข้อดี
ทุ่มได้เต็ม 100% ก็เป็นกิจการของเราเอง ทำมากก็ได้มาก จะมาทำเช้าชามเย็นชามเมื่อไหร่จะออกดอกออกผล ว่าแล้วก็ขยันกันเต็มร้อย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหนและอีกส่วนก็อาจจะมาจากแรงกดดันจากคนในครอบครัว แบบที่กิจการของตัวเองทั้งทีแบบนี้ ไม่ขยันก็ไม่ได้แล้ว
ประสานงานได้ง่าย เรียกว่าคนในครอบครัวกัน คุยภาษาเดียวกันอยู่แล้ว บางที่แค่อ้าปากก็รู้ว่าอีกคนต้องการอะไร เพราะอย่างนี้ธุรกิจในครอบครัวจึงประสานงานได้อย่างรวดเร็ว รับ ส่งข้อมูลกันได้ดีไม่มีติดขัด เพราะว่ารู้จักรู้ใจกันมานานนี่เอง
ความลับไม่ไปไหน... เงินทองไม่รั่วไหล ทำเท่าไหร่ก็เข้ากงสี ไม่มีที่จะถูกยักย้ายถ่ายเทไปยังหุ้นส่วน หรือคนนอกตระกูลให้เสียเปล่า ส่วนเรื่องความลับทางธุรกิจก็ไม่ต้องกลัวว่าจะล่วงรู้ถึงหูคู่แข่งได้ง่าย เพราะอย่างไรเราก็มีศัตรูทางธุรกิจร่วมกัน
เข้าใจคน เข้าใจงาน เพราะว่ารู้จักนิสัยใจคอ และความถนัดกันดีอยู่แล้ว ธุรกิจในครอบครัวจึงสามารถจัดคนให้เข้ากับงานได้โดยง่าย คนนี้พูดเก่ง เข้ากับคนง่ายก็ต้องไปทำงานด้านประชาสัมพันธ์ คนนี้ขายเก่งไปอยู่ฝ่ายขาย คนนี้เรื่องการเงินไม่บกพร่อง คล่องเรื่องตัวเลข ก็ส่งไปประจำฝ่ายบัญชี เท่านี้เครือข่ายของธุรกิจจึงเป็นองค์กรหนึ่งในหลายๆ องค์กรที่ประสบความสำเร็จ

ข้อเสีย
ขึ้นชื่อว่าอะไรดี ก็ต้องมีข้อเสียว่าแล้วเรามาดูข้อเสียของการทำงานแบบครอบครัวกันดีกว่า
ผิดใจ ผิดยาว สำหรับคนที่เป็นลูกจ้างบริษัท ผิดใจกับเจ้านาย ไม่นานก็หาย หรือถ้าย้ายบริษัทไปพักใหญ่ก็อาจจะกลับมาคุยต่อกันได้ แบบต่อก็ติด แต่ถ้าเป็นคนในครอบครัว เวลาผิดใจกัน มันจะพาลเอาทุกเรื่องมาปนกับงานเสียหมด เพราะเรื่องรักใคร่ ก็ไม่เข้าใครออกใคร จะบอกว่ารักทุกคนเท่ากัน มันคงไม่มีจริง
เลือดข้นกว่าน้ำ บริหารแบบครอบครัวในกิจการของครอบครัว เวลามีการเปิดสายงานใหม่ ตำแหน่งใหม่ อะไรใหม่ๆ คนที่จะได้พิจารณาให้รับในสิ่งนั้นก็หนีไม่พ้นคนในครอบครัว ตรงนี้ช่องโหว่ค่อนข้างเยอะ เพราะบางทีคนดีๆ ที่มีความสามารถแต่ขาดแค่ นามสกุลก็อาจจะต้องพลาดไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่คนเก่งๆ ที่จะมาช่วยกิจการอาจต้องไม่ได้เข้ามามีบทบาทเท่าไหร่ เพียงเพราะไม่ใช่คนในตระกูล
เชยจนชิน บางครั้งวัฒนธรรมองค์กรที่มีมานานมันก็ยากจะแก้ไข ทั้งๆ ที่บริษัทอาจจะต้องไหลไปตามกระแสโลกบ้าง แต่บ้างครั้งเรื่องนั้นกลับเป็นเรื่องใหญ่ที่คอยขัดขวาง ความคุ้นเคยกับสิ่งเดิมๆ ระบบเดิมๆ อาจจะดีจริงในเรื่องความแม่นยำและความมั่นคง แต่ถ้าไม่กล้าเสี่ยงเสียเลย จะให้เติบโตในธุรกิจคงเป็นไปได้ยาก
เส้นใหญ่...สายใหญ่ ระบบอุปถัมภ์เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ในการทำกิจการครอบครัว แน่นอนว่าแม้เกิดในตระกูลเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้มีความรับผิดชอบเท่ากันไปเสียทุกคน บางคนมาก บางคนน้อย บางคนแทบไม่มีเลย คิดเสียว่าเป็นบริษัทของพ่อแม่เรา ยังไงเสียก็ไม่ถูกไล่ออก ผลาญเงินไปวันๆ นั่งเสียเวลา เปลืองอากาศหายใจยังไงก็ไม่มีใครกล้าตักเตือน เรียกว่าสบายจนเคยชิน แบบนี้ก็ลำบาก แต่เชื่อแน่ว่ามีอยู่ทุกกิจการของครัวเรือน!

การสร้างความสมดุลในความต้องการระหว่างครอบครัวและธุรกิจ
               เมื่อท่านอ่านมาถึงบรรทัดนี้ท่านคงทราบถึงข้อดีข้อเสียของธุรกิจครอบครัวแล้ว จะทำอย่างดี ข้อแนะนำคือให้เรา สร้างความสมดุลในความต้องการระหว่างครอบครัวและธุรกิจ เพราะ เมื่อธุรกิจและครอบครัวสมดุลจะก่อให้เกิด
  • ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
  • การมีข้อตกลงร่วมกัน
  • ธุรกิจมีประสิทธิผลที่ดี
  • ครอบครัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
แต่ถ้าเรา เน้นธุรกิจมากกว่าครอบครัว จะกัดกร่อนในเรื่อง
  • การสื่อสารของครอบครัว
  • ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของครอบครัว
  • ความภักดีของคนในครอบครัว
  • เวลาของคนในครอบครัว
  • อารมณ์ของคนในครอบครัว
และถ้าเรา เน้นครอบครัวมากกว่าธุรกิจ จะกัดกร่อนในเรื่อง
  • การสื่อสารในธุรกิจ
  • ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
  • การประเมินผลการปฏิบัติงาน
  • การตัดสินใจ
  • การเลือกกลยุทธ์

5 เคล็ดลับเปลี่ยนแนวคิด ธุรกิจครอบครัวสู่ความยั่งยืน
        ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวไทย ต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวรับความท้าทายหากต้องการอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของกติกาการค้าทั้งในระดับโลกและภูมิภาคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
       ขณะที่เทคโนโลยี, การวางแผนสืบทอดกิจการ, นวัตกรรมใหม่ๆ, บุคลากรที่มีศักยภาพ และ การขยายกิจการไปในต่างประเทศ จะเป็น 5 ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เติบโตและประสบความสำเร็จในปีนี้
      
       ยิ่งกระแสการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังซึมซับและเข้าไปอยู่ในสายเลือดของคนไทยไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ หรือแม้แต่ ธุรกิจครอบครัว ที่ต้องเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ที่ต้องพยายามแสวงหาโอกาสเพื่อความก้าวหน้าและความอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ในรุ่นต่อไป
       
       ทางรอดของธุรกิจครอบครัว มีตั้งแต่การผลักดันให้ลูกหลานก้าวขึ้นมารับช่วงสืบทอดกิจการ การหามืออาชีพเข้ามาช่วยบริหาร ไปจนถึงการขายกิจการครอบครัว หรือในบางกรณี การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น และเป็นการเปิดให้คนนอกครอบครัวเข้ามารับรู้เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการธุรกิจมากขึ้น อีกทั้งกระบวนการต่างๆก่อนการทำ IPO ซึ่งนั่นหมายถึง ธุรกิจต่างๆที่เคยประกอบกิจการแบบ กงสีจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันยกใหญ่ 

 ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) กล่าวว่า ความสำเร็จของธุรกิจทั่วไปนั้น ปกติจะวัดกันที่รายได้ ยอดขาย กำไร แต่สำหรับธุรกิจครอบครัว เป้าหมายคือการเติบโตอย่างยั่งยืนไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งถึงแม้ว่าธุรกิจในภูมิภาคเอเชียกว่าร้อยละ 70-80 ล้วนเป็นธุรกิจที่เติบโตมาจากกิจการครอบครัวแทบทั้งสิ้น แต่ผลจากการศึกษาของหลายๆสำนักพบว่า อัตราการอยู่รอด (Survival rate) ของธุรกิจครอบครัวจนถึงรุ่นที่ 3 หรือ 4 กลับมีน้อยมากหรือไม่ถึงร้อยละ 5 เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า ธุรกิจครอบครัวมักจะไปได้ไม่เกิน 3 ชั่วอายุคน

ศิระ อินทรกำธรชัย


          เช่นเดียวกันกับธุรกิจครอบครัวไทย ที่มีผู้ประกอบการน้อยราย (เปรียบเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ) ที่มีฐานทุนขนาดใหญ่ และมีระบบบริหารจัดการที่ดีเพียงพอที่จะสามารถต่อยอดกิจการให้เติบใหญ่ยืนหยัดเป็นสิบๆร้อยๆ ปีแบบบริษัทต่างชาติ ซึ่งประเด็นการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวที่ไปได้ไม่ไกลเกิน 3 รุ่นนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายใน (Internal factors) เช่น เมื่อธุรกิจเติบโต จำนวนสมาชิกของตระกูลเพิ่มขึ้น ความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่า (Baby boomer) กับเด็กรุ่นใหม่ (Generation Y) ก็เริ่มขยายตัวขึ้น ยิ่งลักษณะวัฒนธรรมไทยมีการสื่อสารกันน้อย ทำให้ขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกครอบครัว มีระบบ Seniority สูง ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งสั่งสมกันหลายประเด็นในธุรกิจครอบครัว
      
       “โจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการจะต้องไปศึกษา หาคำตอบกับทีมบริหารตั้งแต่วันนี้ คือจะทำอย่างไรให้องค์กรของตนมีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการมี Talent ที่เหมาะสมกับงาน มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต้องถามตัวเองว่ากลยุทธ์ที่ใช้ในวันนี้จะยังช่วยให้ธุรกิจที่ทำ คงอยู่ในกระแสความต้องการไปได้อีกห้าปีข้างหน้าหรือไม่ รวมทั้งต้องกล้าตัดสินใจในเรื่องที่จะทำให้องค์กรเติบโตไม่หยุดนิ่ง สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาด รวมทั้งเจาะตลาดและขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ สิ่งที่สำคัญคือต้องรู้จักบริหาร Risk และหาจุดกึ่งกลางที่เหมาะสมระหว่างการลงทุนและการกระจายความเสี่ยงด้วย,” นาย ศิระ กล่าว
       จากผลการสำรวจ PwC’s Playing their hand เมื่อเร็วๆ นี้ ยังได้กล่าวถึง ปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่ธุรกิจครอบครัว ต้องคำนึงถึงในการประกอบกิจการไปสู่ความสำเร็จและยั่งยืนในปี 2556 อันได้แก่ 
       1. นวัตกรรม (Innovation) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้กิจการครอบครัวสามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่ในกระแส (Relevant) และเป็นที่ต้องการของลูกค้าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ในกรณีนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีวิสัยทัศน์ต่อธุรกิจของตนในระยะยาว คือ ต้องกล้าที่จะลงทุนในสิ่งใหม่ๆ โดยไม่หวังแค่ผลตอบแทนระยะสั้น และยังต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ทางด้านนวัตกรรมไปพร้อมๆกับการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ (Business goals) ของตนด้วย สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้คิด พูด อ่าน เขียน และทำสิ่งต่างๆด้วยวิธีใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด รู้จักการพัฒนาต่อยอด มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ อย่าลืมว่า เป้าหมายของนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อทำให้สิ่งต่างๆเกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นวัตกรรมก่อให้เกิดผลผลิต (Productivity) ใหม่ๆและเป็นที่มาสำคัญของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ในระดับอาเซียน จะเห็นได้ว่าการสร้างนวัตกรรมยังถูกผนวกให้เข้าไปเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน (ASEAN ICT Master Plan 2015) อีกด้วย
       2. เทคโนโลยี (Technology) สิ่งที่ผู้ประกอบการกิจการครอบครัวส่วนใหญ่ยังมองข้ามคือ การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยปฏิรูปการดำเนินธุรกิจ แม้กระทั่งผู้บริหารในตลาดเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าพัฒนาล้ำหน้าชาวโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา ยังมองว่าความต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ จะกลายเป็นความท้าทายอันดับต้นๆของธุรกิจครอบครัวในช่วง 5 ปีข้างหน้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้บริหารควรหันมาให้ความสำคัญกับเทรนด์ของเทคโนโลยี ได้แก่ สังคมออนไลน์ (Social), อิสรภาพในการทำธุรกิจจากที่ใดก็ได้ (Mobile), การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Analytics) และ ระบบคลาวน์ (Cloud) หรือสิ่งที่เราเรียกว่า SMAC
       ที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มเห็นผู้ประกอบกิจการรายใหญ่ ในแวดวงธนาคาร สื่อสาร และ อุตสาหกรรมบางประเภท เริ่มนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง PwC คาดว่าจะเริ่มมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้ง ธุรกิจครอบครัวเห็นมาให้ความสำคัญกับเทรนด์เทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
       3. การสร้างกลไกในการรักษาและดึงดูดคนเก่ง (Talent) การที่ประกอบธุรกิจใดๆให้เติบโตประสบความสำเร็จต้องอาศัย คนซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นเรื่อง Talent War จะยิ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ AEC ในปลายปี 2558
      
       “ธุรกิจครอบครัวจะต้องเตรียมความพร้อมเรื่องคน โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร มีการจัดทำสภาพการจ้างงานหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดผู้สมัครงาน และเพิ่มแหล่งข้อมูลของผู้สมัครงาน เพื่อให้ได้คนที่มีความสามารถ มีทักษะ เหมาะสมกับลักษณะของงาน นอกจากนี้ธุรกิจครอบครัวยังควรเข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการสร้างงานและพัฒนาคนตั้งแต่ต้นน้ำ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย ในการจัดโปรแกรมการฝึกงาน การรับนักศึกษาเข้าทำงาน เพื่อให้ได้คนที่มีคุณภาพ และมีทักษะตรงต่อความต้องการของตลาด (Marketable skills)”ศิระ กล่าว
      
       นอกจากนี้ ผู้บริหารจะต้องสร้างกลไกในการรักษาคนเก่งด้วย ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของธุรกิจครอบครัวทั้งหลายในปัจจุบัน เจ้าของกิจการจะต้องมีการสนับสนุนและส่งเสริมคนนอกครอบครัว ให้ขึ้นมาบริหารและสามารถเติบโตไปกับองค์กรได้อย่างเท่าเทียม และสร้างค่านิยมโดยส่งเสริมคน ที่ความสามารถ ไม่ใช่ตระกูลหรือนามสกุล นอกจากนี้ ความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อของคนในแต่ละเจเนอเรชั่น ไม่ว่าจะ Baby boomers, Gen X, Y (Milliennials - คนยุคศตวรรษใหม่) หรือ Z ยังถือเป็นความท้าทายที่ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวในศตวรรษที่ 21 จะต้องไปทำการบ้าน
      
       4. การวางแผนสืบทอดกิจการ (Succession planning) ปัญหาที่พบบ่อยครั้งในประเด็นนี้คือ บริษัทขาดการจัดการด้าน กระบวนการที่ดีหรือไม่มีเลย ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว แม้ในบางครั้งผลกระทบอาจจะมองไม่เห็นได้ในทันที เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจการครอบครัวจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมุ่งเน้นในเรื่องหลักๆ ได้แก่ การสร้างภาวะผู้นำในทุกระดับ การพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่เพื่อรองรับการวางแผนสืบทอดตำแหน่ง การบริหารจัดการคนเก่ง มีแผนสร้างคนให้เติบโตในทางเดินทางอาชีพอย่างชัดเจน และเน้นย้ำความผูกพันระหว่างคนกับองค์กร ซึ่งถือเป็นประเด็นต่อเนื่องจากการสร้างและพัฒนาคนในองค์กร
      
       ศิระ กล่าวว่า คำว่า การวางแผนสืบทอดกิจการ หรือ การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง แท้จริงแล้วคือการวางแผนเพื่อให้มีคนใหม่ในอนาคตนำพาองค์กรไปข้างหน้า Succession planning คือ การมีระบบเพื่อให้มีผู้บริหารเมื่อถึงเวลา เกิดมาจากการพัฒนาคนให้พร้อมไม่ว่าจะเป็นสมาชิกครอบครัว หรือ คนนอกที่มีศักยภาพพร้อมรับตำแหน่งเมื่อถึงเวลาส่งไม้ต่อ การวางแผนที่ดีจริง คือมีตัวตายตัวแทน และมีตัวเลือกที่เหมาะสม
      
       5. การขยายกิจการไปในต่างประเทศ (International expansion) คำว่า โกอินเตอร์ ดูเหมือนจะกลายเป็นคำพูดติดปากของภาคธุรกิจไทยไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะในยามที่เรากำลังมุ่งไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐได้มีการดำเนินการหลายด้านเพื่อที่จะทำให้อาเซียนรวมตัวกันเป็นประชาคมทั้งในมิติของประชาชน สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ในส่วนของภาคธุรกิจ เราเห็นสัญญาณการเคลื่อนย้ายของเงินลงทุนของบริษัทไทยที่ต้องการต่อยอดทางธุรกิจ ขยายกำลังการผลิต หรือกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งแนวโน้มการหาพันธมิตรทางธุรกิจ หรือกิจกรรมการควบรวมในภูมิภาคน่าจะยังมีมากขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวไทยกลายเป็น Multinational firm มากขึ้น
       การก้าวเข้าสู่เออีซี ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจไทยและอาเซียนในการก้าวสู่เวทีโลก ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดบ้านต้อนรับผู้ประกอบการจากทั่วโลกที่จะขยายการลงทุนเข้าสู่ไทยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นการเดินหน้ารุกและตั้งรับในครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ไม่ว่าเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องมีการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งต้องเน้นในเรื่องการบริการเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและสร้างลูกค้าใหม่ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
      
       การดำเนินธุรกิจครอบครัวบนความเปลี่ยนแปลงของโลก จำเป็นต้องอาศัยการประสานงานของคนทุกรุ่น เพราะอย่าลืมว่า ธุรกิจต้องเติบโต และถูกพัฒนาไป ซึ่งในบางครั้ง ลูกหลานคงทำเองหมดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าธุรกิจครอบครัวจะแข่งขันได้ ก็ต้องมองดูว่าคู่แข่งเราเก่งอะไร แล้วเราจะเอาใครที่เก่งมาช่วย เอาองค์ความรู้ต่างๆ ที่เราไม่มีเข้ามาเพื่อต่อยอดและเสริมสร้างให้เราแข็งแกร่งขึ้น พัฒนาธุรกิจ แล้วขยายให้เติบโตต่อไป Business as usual สำหรับเราๆ ท่านๆ คงจะไม่เพียงพออีกต่อไป ศิระ กล่าวในที่สุด



อ้างอิง
http://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9560000036236


13 ความคิดเห็น:

  1. เนื้อหาดีมากเลยค่ะ นำไปใช้ประโยชน์ได้ดีทีเดียว

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ9 สิงหาคม 2556 เวลา 21:57

    อ่านแล้วเข้าใจมากๆเลยครับ

    ตอบลบ
  3. เนื้อหามีสาระดีมากๆค่ะ น่าสนใจ เหมาะแก่การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

    ตอบลบ
  4. เนื้อหามีสาระดีมากค่าาา สามารถนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจได้เลย :}

    ตอบลบ
  5. ทำให้เข้าใจคำว่าธุรกิจครอบครัวมากขึ้น ที่บ้านก็มีอยู่สามารถนำไปใช้ได้ดีจริงๆค่ะ ขอบคุณนะคะ

    ตอบลบ
  6. เนื้อหาดีค่ะ มีสาระ เป็นที่น่าสนใจ

    ตอบลบ
  7. เนื้อหาเป็นที่น่าสนใจมากค่ะ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่าสนใจ

    ตอบลบ
  8. เนื้อหาน่าสนใจมากเลยคะ สามารถไปปรับใช้ได้

    ตอบลบ
  9. เนื้อหาได้เพิ่มความรู้ได้มากเลยค่ะ ทำให้รู้เเละเข้าใจอะไรๆได้มากขึ้น ขอบคุณมากๆ ค่ะ

    ตอบลบ
  10. น.ส.เกศสุดา ปิ่นเกษ

    ตอบลบ